รู้ทันกระบวนการที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึก
ก่อนที่เราจะไปดูวิธีการจัดการอารมณ์ของคนในครอบครัว เรามาดูกระบวนการที่มีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเรากัน
ยกตัวอย่างเช่น ในวันหนึ่งเราพบว่าลูกรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ไม่ยอมนำจานไปล้างเก็บให้เรียบร้อย สถานการณ์นี้อาจทำให้เราสามารถตีความจากความเชื่อของตนเองได้เป็น 2 อย่าง คือ
- ลูกอาจมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าต้องทำ เลยยังไม่ทันได้เก็บ
หรือ
- ลูกห่วงเล่นจนไม่สนใจที่จะเก็บจานให้เรียบร้อยเสียก่อน
จะเห็นได้ว่าจากการตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะนำไปสู่อารมณ์ตอบสนองที่แตกต่างกัน ทั้งรู้สึกเฉย ๆ รู้สึกโกรธ หรือรู้สึกกังวลใจ ซึ่งถ้าอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอารมณ์ด้านลบ และเราไม่สามารถจัดการอารมณ์เหล่านั้นได้ ก็จะทำให้เราแสดงอารมณ์ออกมาด้วยการต่อว่าลูก นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง และสร้างความไม่สบายใจให้แก่ทุกคนในครอบครัวได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการจัดการอารมณ์ของคนในครอบครัว โดยเฉพาะอารมณ์ของตัวเราเองนั้น เราต้องปรับวิธีการคิดและการตีความให้ความหมาย ต่อสถานการณ์นั้น ๆ ไปในเชิงที่เป็นวิธีสร้างความสุขในครอบครัวได้
6 วิธีจัดการอารมณ์ของคนในครอบครัว
1. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบ
วิธีการที่จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้นั้น คือการไม่พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดอารมณ์ในด้านลบ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดคุยกับคนในครอบครัว แล้วมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มพูดจาไม่ดี เราควรหยุดการสนทนานั้น และควรปลีกตัวออกมา เพื่อเว้นระยะห่างซึ่งกันและกัน ลดโอกาสที่บทสนทนาจะนำไปสู่ความรู้สึกโกรธ และกลายเป็นปากเสียงกันได้
2. เปิดใจยอมรับว่ากำลังมีอารมณ์ด้านลบ
การฝึกจับอารมณ์ความรู้สึกและเปิดใจยอมรับหากกำลังมีอารมณ์ด้านลบ จะช่วยให้เราควบคุมอารมณ์ไม่ให้รุนแรงขึ้นได้ และยังช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง หรือการสาดอารมณ์ในด้านลบใส่กันภายในครอบครัวได้อีกด้วย
3. เบี่ยงเบนความสนใจ ไม่จมกับอารมณ์
หากเกิดการกระทบกระทั่งกันในครอบครัว ต้องรีบพยายามสิ้นสุดการทะเลาะเบาะแว้งนั้นให้ได้ และเบี่ยงเบนความสนใจด้วยการไปทำอย่างอื่นที่ชื่นชอบแทน เช่น การอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือว่าฟังเพลง เพื่อดึงตัวเองออกจากอารมณ์โกรธ และอารมณ์เสียใจที่เกิดขึ้น จะได้ไม่จมไปกับความรู้สึกนั้นเป็นเวลานาน และเมื่อเราพาตัวเองออกจากความรู้สึกในด้านลบได้ ก็จะช่วยให้ความรู้สึกเหล่านั้นค่อย ๆ เบาบางลง และจางหายไปในที่สุด
4. ปรับแนวความคิดใหม่
อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า อารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นได้จากการตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าเราลองปรับวิธีคิดใหม่ ตีความสถานการณ์ในด้านบวกมากขึ้น ก็จะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงจากอารมณ์ในด้านลบได้ง่ายขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ให้เราลองคิดว่าที่ลูกยังไม่นำจานไปล้าง หลังจากรับประทานเสร็จ อาจเป็นเพราะมีสิ่งอื่นสำคัญกว่าต้องทำ ถ้าทำเสร็จแล้วคงกลับมานำไปล้าง หรือถ้ากลัวว่าลูกจะลืม ก็สามารถไปเตือนลูกด้วยถ้อยคำที่ดีได้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เราไม่แสดงความโกรธออกไป ยังเป็นการพยายามทำความเข้าใจในความคิดของลูกอีกด้วย
5. สูดลมหายใจเรียกสติ ไม่สนองตอบอารมณ์ด้านลบในทันที
หากลูกเริ่มแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก หรือพูดจากับเราด้วยน้ำเสียงที่ไม่น่าฟัง ไม่ควรสวนกลับอารมณ์ในด้านลบนั้นทันที ควรหายใจลึก ๆ เพื่อเรียกสติ และควบคุมอารมณ์ แล้วจึงตอบกลับไปด้วยเหตุผล หรือด้วยคำพูดที่แสดงความเข้าใจ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายและทำให้ต่างฝ่ายต่างเสียความรู้สึกกันไปมากกว่าเดิม
6. ไม่ส่งต่ออารมณ์ด้านลบให้คนรอบข้าง
บางครั้งความรู้สึกในด้านลบอาจไม่ได้เกิดจากคนในครอบครัว แต่เป็นความรู้สึกที่เราแบกติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน ดังนั้น หนึ่งในวิธีสร้างความสุขในครอบครัวได้ คือต้องควบคุมอารมณ์เหล่านั้นไว้ และไม่ส่งต่ออารมณ์ด้านลบให้คนรอบข้างนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ คือวิธีสร้างความสุขในครอบครัว ด้วยการรู้จักจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเปลี่ยนบ้านให้เป็นเซฟโซน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่คอร์สจิตวิทยาการเลี้ยงลูก ที่ Inside Out Academy เพื่อเรียนวิธีการจัดการอารมณ์คนในครอบครัว และมีวิธีจัดการกับอารมณ์ของลูกได้ดียิ่งขึ้น