6 วิธีคุยกับลูกวัยรุ่น สื่อสารอย่างเข้าใจ สร้างสุขในครอบครัว

ไม่ควรใช้อารมณ์สื่อสารกับลูกวัยรุ่น

เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ลูกต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพของร่างกาย อารมณ์ หรือการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งในช่วงวัยนี้จะเป็นช่วงที่ลูกมักเกิดความสับสน หงุดหงิดง่าย ใจร้อน และอารมณ์แปรปรวน พ่อแม่ต้องปรับตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูก เพื่อให้ลูกกล้าเปิดใจพูดคุยในเรื่องต่าง ๆ ได้ หรือสามารถปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างสะดวกใจ และก้าวข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านวัยได้อย่างมีคุณภาพ

เชื่อว่ายังมีพ่อแม่หลายคนที่อาจยังไม่เข้าใจวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม ทำให้บ่อยครั้งเผลอพูดในสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูกวัยรุ่นออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ จนอาจเกิดเป็นความไม่เข้าใจและมีการกระทบกระทั่งจิตใจระหว่างคนในครอบครัว สิ่งนี้เป็นเหมือนการผลักลูกออกจากพื้นที่ปลอดภัยอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจทำให้คุณเสียใจในภายหลังได้ เรามี 6 วิธีคุยกับลูกวัยรุ่นอย่างเข้าใจ ไม่ใช้อารมณ์มาแนะนำกัน

 

6 วิธีพูดกับลูกเชิงบวกและสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูกวัยรุ่น

 

1. ตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มักจะตัดสินในสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง หากพ่อแม่ต้องการสอบถามหรือให้คำแนะนำ ควรเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าถูกคาดคั้น หรือถูกบังคับให้ตอบคำถาม ด้วยคำตอบที่พ่อแม่อยากได้ยิน

พ่อแม่ควรตั้งคำถามที่เป็นการกระตุ้นให้ลูกได้คิด เพื่อหาคำตอบได้ด้วยตนเอง หรือตั้งข้อสงสัยเพื่อเป็นการชี้นำแนวทางให้ลูกได้ทบทวนและคิดต่อ ซึ่งเป็นการฝึกให้ลูกได้รู้จักการคิดอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น

 

2. รับฟังลูกอย่างตั้งใจ

การตั้งใจรับฟังลูกอย่างใจเย็นเป็นหัวใจสำคัญในวิธีคุยกับลูกวัยรุ่น โดยพ่อแม่ไม่ควรเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการต่อว่า หรือแสดงอารมณ์ด้านลบออกมา

แต่พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดในสิ่งที่เขาคิด หรือกล้าบอกถึงปัญหาที่เขาเป็นกังวลอยู่ในใจ ควรรับฟังอย่างตั้งใจ โดยยังไม่ด่วนตัดสินว่าสิ่งที่ลูกคิดนั้นผิดหรือถูก เพื่อทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจว่าพ่อแม่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเขาอยู่เสมอ

 

3. ชื่นชมและสร้างพลังบวกให้แก่ลูก

เมื่อการสร้างอารมณ์ด้านลบเป็นสิ่งต้องห้าม และเป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูกวัยรุ่น การสร้างพลังบวกให้แก่ลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงการพูดในสิ่งที่ทำให้ลูกเกิดกำลังใจ เช่น กล่าวชื่นชม ให้กำลังใจ ปลอบโยน หรือกระตุ้นให้ลูกมองเห็นข้อดีของตนเอง

การกล่าวคำชื่นชมในข้อดีของลูก แม้เพียงกับเรื่องเล็กน้อย จะช่วยทำให้ลูกเกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยเลือกคำชมที่จะช่วยส่งเสริมให้ลูกต้องการที่จะพัฒนาตนเองมากขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างเช่น การชมลูกว่า “ลูกเรียนเก่งจึงสอบได้คะแนนดี” ให้ปรับเป็นการชมที่สามารถเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยการชมที่วิธีการ หรือคุณลักษณะที่ดีของลูก เช่น “เพราะลูกตั้งใจเรียนจนทำให้ได้คะแนนดี แม่ภูมิใจในตัวลูก” นั่นเอง

  หลีกเลี่ยงสื่อสารกับลูกวัยรุ่นโดยใช้อารมณ์  

4. เปิดโอกาสให้หาทางแก้ไข

พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการถามด้วยประโยคที่เหมือนคำสั่ง เช่น ลูกต้องทำแบบนี้เข้าใจไหม? แต่ควรตั้งคำถามที่ทำให้ลูกรู้สึกว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดก่อนตอบ หรือลองตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เช่น ลูกคิดว่าเหตุการณ์นี้ ต้องแก้ไขอย่างไร? หากพ่อแม่ตั้งคำถามได้เหมาะสม จะช่วยฝึกให้ลูกได้คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง และยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ครอบครัวอีกด้วย

 

5. รับฟังแบบกระจกสะท้อน

พ่อแม่ควรรับฟังและโต้ตอบแบบกระจกสะท้อนในสิ่งที่ลูกพูด เช่น “ลูกรู้สึกไม่ชอบในสิ่งที่เพื่อนพูด” “ลูกเสียใจที่เพื่อนไม่ชวนไปเที่ยวด้วย” พร้อมสังเกตสีหน้าท่าทาง รวมถึงจับความรู้สึกของลูก เพื่อเป็นการให้ลูกกล้าพูดความรู้สึกอย่างเปิดใจ และรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง

 

6. เชื่อใจและให้เกียรติลูก

เชื่อว่าสิ่งที่ลูกทุกคนต้องการคือความเชื่อใจจากพ่อแม่ พ่อแม่จึงควรแสดงความเชื่อใจและให้เกียรติลูก และปฏิบัติกับลูกเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเอง เวลาพูดคุยกับลูกต้องพูดอย่างจริงจัง แต่ไม่ใช้อารมณ์ เพื่อให้ลูกเปิดใจยอมรับ และต้องการพูดคุยปรึกษากับพ่อแม่มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การสื่อสารกันในครอบครัวมีประสิทธิภาพ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในครอบครัว

 

ทั้งหมดนี้ คือ 6 วิธีพูดกับลูกเชิงบวก ที่เรารวบรวมมาแนะนำกัน เพื่อให้พ่อแม่สามารถนำไปปรับใช้กับลูกวัยรุ่นได้ และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเพิ่มทักษะการสื่อสารกับลูกวัยรุ่น ที่ Inside Out Academy มีคอร์สสอนวิธีสื่อสารกับลูกวัยรุ่น เพื่อการสื่อสารกับลูกอย่างเข้าใจ และเข้าถึงใจของลูกได้มากยิ่งขึ้น

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.